ความเป็นมา

     ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2556 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 ว่าด้วยการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้น เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนของประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนตามข้อตกลงการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียนและข้อตกลงภายใต้กรอบเศรษฐกิจอื่น และจากการค้าบริเวณพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ระบุให้พื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รัฐต้องสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จที่สอดคล้องกับระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window : ASW) และการดำเนินการอื่นที่จำเป็นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาคลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และแก้ปัญหาความมั่นคง ทั้งนี้คณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้มีประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่ 1/2558 เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้การจัดตั้งและดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 แห่ง เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด และจากมติคณะกรรมการ กนพ. ในการประชุมครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 มีมติให้ กนอ.พัฒนาพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่ง คือ จังหวัดตาก จังหวัดสระแก้วและจังหวัดสงขลา

     ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างตัน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงวางแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ซื่อ "โครงการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา" พื้นที่ประมาณ 927.93 ไร่

วัตถุประสงค์

เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นศูนย์พัฒนาความเจริญไปสู่ภาคใต้

เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรวัตถุดิบ แรงงานในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงในชายแดนภาคใต้มากขึ้น

สร้างโอกาสการจ้างงานและเพิ่มรายได้ในภาคการผลิต และบริการเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมของประเทศ

สร้างความเจริญด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่าง ๆ ให้กับภูมิภาคนี้

ภารกิจ

ให้บริการสาธารณูปโภคสาธารณูปการแก่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

การให้บริการข้อมูลด้านการลงทุน การอนุมัติ/อนุญาต และด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ
แก่ผู้ประกอบการ โดยคำนึงถึงความสะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพที่ผู้ประกอบการจะได้รับ โดยมีศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร

เชิญชวนนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้

เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแก่จังหวัด ท้องถิ่น   ประชาชน และชุมชนโดยรอบ โดยการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแก่จังหวัด ท้องถิ่น ประชาชน และชุมชนโดยรอบ

Banner Border